วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผู้พิพากษาหรือตุลาการย่อมถูกตรวจสอบจากองค์กรอื่นได้

ผู้พิพากษาหรือตุลาการย่อมถูกตรวจสอบจากองค์กรอื่นได้

อนุสนธิกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงผู้พิพากษาที่อนุมัติออกหมายจับ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ จนเกิดการโต้แย้งจากฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมผ่านทางสื่อมวลชนว่า ป.ป.ช.ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของตุลาการซึ่ง ผู้พิพากษามีดุลพินิจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่รัฐธรรมนูญและประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญาบัญญัติไว้ โดยไม่อาจมีการแทรกแซงหรือก้าวล่วงจากหน่วยงานหรือบุคคลอื่นใด

หากคู่ความไม่เห็นด้วยกับดุลพินิจของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีหรือ มีคำสั่งคำพิพากษา คู่ความย่อมสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลที่มีลำดับชั้นสูงกว่าได้ ซึ่งทางฝ่าย ป.ป.ช.ยืนยันในอำนาจของตนเองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯของตน ว่าสามารถทำได้ จึงเป็นสิ่งที่สร้างความงุนงงแก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ นักกฎหมาย (แม้นักกฎหมายเองก็ตามเถอะ) ว่าจริงๆแล้ว ป.ป.ช.หรือองค์กรอื่นสมารถตรวจสอบผู้พิพากษาหรือตุลาการได้หรือไม่ อย่างไร

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 บัญญัติไว้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าทีราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ใน การยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอนถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้

ซึ่งบทบัญญัตินี้ใช้บังคับกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ในส่วนของกระบวนการหรือขั้นตอนนั้นมาตรา 271 บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนของจำนวน สมาชิกที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 270 ที่ว่านี้ออกจากตำแหน่งได้ คำร้องขอดังกล่าวต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว กระทำความผิดเป็นข้อๆให้ชัดเจน ซึ่งก็รวมไปถึงการที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน

โดยเมื่อวุฒิสภาได้รับคำร้องขอแล้วประธานวุฒิสภาจะต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน เมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว ป.ป.ช.ก็จะรายงานต่อวุฒิสภา ซึ่งในตอนที่ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันดังกล่าวผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จน กว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้ประธาน ป.ป.ช.ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อจัด ให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวโดยเร็ว ในขณะเดียวกันที่นำเรื่องเข้าวุฒิสภาเพื่อพิจารณาถอดถอนหรือไม่นั้น ประธานยังต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไปอีกด้วย แต่ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป

แต่หากวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการ เป็นเวลาห้าปี ซึ่งมติของวุฒิสภาในกรณีนี้ถือเป็นที่สุด และจะมีการร้องขอให้บุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง

จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ยกมาข้างต้นประกอบกับบทบัญญัติแห่งรัฐ ธรรมนูญมาตรา 197 วรรคสองที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษา อรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้งความเห็นของทั้งฝ่ายตุลาการและ ป.ป.ช.ต่างก็ถูกทั้งคู่

ที่ว่าถูกทั้งคู่ก็เพราะว่าผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีดุลพินิจอิสระใน การพิจารณาพิพากษาคดีตาม ซึ่งในกรณีนี้หมายกรณีการออกหมายจับอดีตอธิบดี ดี เอส ไอ ป.ป.ช.ย่อมไม่มีสิทธิไปตรวจสอบว่าออกหมายจับได้หรือไม่ ควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะเป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยแท้

แต่อย่างไรก็ตามจากมาตรา 270 ป.ป.ช.ย่อมมีอำนาจตรวจสอบประธาน ศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งรวมถึงผู้พิพากษาหรือตุลาการตามมาตรา 270 วรรคสอง (2) ว่าผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งผลจากการชี้มูลของ ป.ป.ช.ดังกล่าวจะไปจบลงที่วุฒิสภาว่าจะมติถอดถอนหรือไม่ และ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง อย่างใด

ในทำนองกลับกันสมาชิกวุฒิสภาก็สามารถถูกตรวจสอบได้ไม่ว่าจะเป็นการถอดถอน จากวุฒิสภาตามมาตรา 270และ 271วรรคสอง และ ป.ป.ช.เองหากผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการมาตรา 249 ก็บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาขิกวุฒิสภาหรือสมาชิทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวน สมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยการทำคำร้องระบุพฤติกรรมที่กล่าวหาเป็นข้อๆให้ชัดเจนและยื่นต่อประธาน วุฒิสภาเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องแล้วก็ส่งต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาต่อไป

กล่าวโดยสรุป องค์กรตามรัฐธรรมนูญและบุคลากรในองค์กรย่อมถูกตรวจสอบได้เสมอจะด้วยกระบวน การขั้นตอนใดนั้นย่อมเป็นไปโดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หากองค์กรใดหรือบุคคลใดไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ย่อมกลายเป็นองค์อธิปัตย์ อิสระที่อยู่เหนือรัฐหรือแยกออกจากรัฐไป

หากทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ปัญหาเรื่อง ความขัดแย้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่ย่อมหมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้กฎหมายเป็นหลัก ซึ่งในกรณีนี้ก็คือผู้พิพากษาหรือตุลาการและ ป.ป.ช.นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น