ปัจเจกชนฟ้องศาลโลกหรือศาลระหว่างประเทศได้หรือไม่
Tue, 2010-02-23 15:24
บทนำ
เรื่องการนำเสนอข้อพิพาทหรือคดีความให้ศาลโลกพิจารณานั้นเป็นประเด็น หนึ่งที่มีการกล่าวถึงเสมอๆ ในสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมประท้วงคิดว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกละเมิดสิทธิต่างๆ จึงจะฟ้องศาลโลก หรือกรณีเกี่ยวกับนโยบายปราบปราบยาเสพติดก็เคยมีความคิดที่จะฟ้องอดีตนายก รัฐมนตรีต่อศาลโลก และกรณีล่าสุดในคดียึดทรัพย์ก็มีข่าวว่าจะมีการฟ้องศาลโลกอีกครั้ง ข้อเขียนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงเกี่ยวกับศาลโลก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลของโลกว่ามีลักษณะอย่างไร
1. ศาลโลกคืออะไร
ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือเรียกชื่อย่ออันเป็นที่รู้จักกันดีว่า I.C.J. (ไอซีเจ) [1] แต่ คนไทยนิยมเรียกว่า “ศาลโลก” (World Court) อีกชื่อหนึ่งของศาลโลกก็คือ “The Hague Court” อาจกล่าวได้ว่าศาลโลกปัจจุบันนี้เป็นทายาทสืบทอดมาจากศาลโลกเก่าคือศาล ยุติธรรมระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice: PCIJ) ศาลโลกจัดว่าเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของสหประชาชาติ ตั้งอยู่ที่ Peace Palace กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ องค์คณะผู้พิพากษามีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน [2] วาระ 9 ปี แต่ผู้พิพากษาอาจถูกแต่งตั้งได้อีก
2. เขตอำนาจศาลโลก (Jurisdiction)
ประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลโลกนั้นจัดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมากประเด็นหนึ่ง เขตอำนาจศาลโลกนั้นมีอยู่ด้วยกันสองประเภทคือ เขตอำนาจคดีที่มีข้อพิพาท (Contentious case) และการให้ความเห็นเชิงปรึกษา (Advisory opinion) โดยจะขออธิบายตามลำดับดังนี้
2.1 เขตอำนาจคดีที่มีข้อพิพาท (Contentious case)
ในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice) มาตรา 34 บัญญัติว่า “เฉพาะรัฐเท่านั้นที่อาจเป็นคู่ความในคดีต่อศาลโลกได้” [3] และ ใน มาตรา 38–42 ของ RULES OF COURT (1978) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลโลก ก็ยังใช้คำว่า Applicant State เมื่อพิจารณาจากธรรมนูญศาลโลกและกฎเกณฑ์วิธีพิจารณาของศาลโลกแล้ว ก็หมายความว่า เฉพาะรัฐอธิปไตยเท่านั้นที่อาจเป็นโจทก์ (Applicant) หรือจำเลย (Respondent) ต่อศาลโลกได้ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องศาลโลกอย่าง Shabtai Rossen ก็ได้กล่าวว่า ศาลโลกเป็นศาลสำหรับรัฐ (A Court for States) ปัจเจกชนมิอาจเป็นคู่ความต่อศาลโลกได้ และปัจเจกชนก็ไม่มีอำนาจในการริเริ่มฟ้องคดี (locus standi) [4]
หลักนี้หลักที่มีมาตั้งแต่ศาลโลกเก่าแล้ว โดยเจตนารมณ์ของการก่อตั้งศาลโลกก็คือ เป็นเวทีของการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศระหว่างรัฐกับรัฐ [5] ดัง นั้น องค์การระหว่างประเทศก็ดี (Intergovernmental Organization) ผู้เป็นฝ่ายในสงครามก็ดี (Belligerency) องค์การปลดปล่อยทางการเมืองก็ดี (Liberation political movement) หรือปัจเจกชนก็ดี (Private individual )ไม่อาจเป็นคู่ความต่อศาลโลกได้
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ศาลโลกเคยตัดสินคดีที่เกี่ยวกับเรื่องของเอกชน เช่น คดี Nottebohm case, Barcelona Traction case, LaGrand case, Breard case แต่คดีเหล่านี้ ก็ล้วนแล้วทำในนามของรัฐทั้งสิ้น โดยผู้แทนของรัฐเป็นคู่ความในศาลโลก เอกชนมิได้ (และไม่สามารถ) เข้าเป็นคู่ความโดยตรง
และ มีข้อสังเกตอีกด้วยว่า หลังจากที่ประเทศไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหาร ประเทศไทยก็มิได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจของศาลโลกอีกต่อไป
2.2 การให้ความเห็นเชิงปรึกษา (Advisory opinion)
เขตอำนาจอีกแบบหนึ่งของศาลโลกคือ การให้ความเห็นเชิงปรึกษาแก่องค์กรหลักของสหประชาชาติรวมถึงทบวงการชำนัญ พิเศษ (Specialized Agency) เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การอนามัย เป็นต้น รัฐก็ดี องค์การระหว่างประเทศอื่นก็ดี หรือปัจเจกชนก็ดี ไม่อาจร้องขอให้ศาลโลกทำความเห็นเชิงปรึกษาได้ โดยความเห็นเชิงปรึกษานี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
3. ศาลระหว่างประเทศอื่นๆ
นอกเหนือจากศาลโลกแล้ว ปัจจุบันมีศาลระหว่างประเทศเกิดขึ้นมากกมาย ทั้งที่เป็นศาลถาวรหรือศาลประจำ (Permanent court) และศาลเฉพาะกิจ ที่เรียกว่า “ad hoc tribunal” โดยศาลระหว่างประเทศที่มีลักษณะเป็นศาลประจำประเทศ ได้แก่ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) [6] ศาลกฎหมายทะเล (The International Tribunal for the Law of the Sea -ITLOS) [7] ส่วน ศาลระหว่างประเทศเฉพาะกิจซึ่งเกิดจากข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชา ชาตินั้นมีด้วยกันหลายศาล ได้แก่ International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia : ICTY) และ The International Criminal Tribunal for Rwanda (ICTR), โดยศาลระหว่างประเทศเหล่านี้มีเขตอำนาจเกี่ยวกับอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International crimes) เท่านั้น
ส่วน The European Court of Human Rights (ECHR) [8] แม้ จะเป็นศาลที่เปิดโอกาสให้เอกชนฟ้องรัฐกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ก็ ตาม แต่ก็ให้สิทธิแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดโดยเจ้า หน้าที่รัฐที่เป็นภาคีอนุสัญญา European Convention on Human Rights เท่านั้น ซึ่งอนุสัญญานี้เปิดให้รัฐที่เป็นภาคีของ Council of Europe [9] ให้สัตยาบันเท่านั้น ดังนั้น รัฐนอกภาคี (อย่างประเทศไทย) ไม่อาจเป็นคู่ความต่อ The European Court of Human Rights ได้
บทสรุป
ตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (หรือศาลโลก) มาตรา 34 ระบุว่า เฉพาะรัฐเท่านั้นที่อาจเป็นคู่ความได้ ดังนั้น ศาลโลกจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เฉพาะรัฐอธิปไตยเท่านั้นที่จะเป็นโจทก์หรือจำเลยในศาลโลก ปัจเจกชน (ไม่ว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล) ไม่อาจเป็นคู่ความในศาลโลกได้
เชิงอรรถ[1] มีข้อพึงระวังว่า การใช้คำว่า IC.J. ต้องไม่ปะปนกับคำว่า International Commission of Jurists ซึ่งใช้คำย่อว่า I.C.J. เหมือนกัน แต่ International Commission of Jurists มีสถานะทางกฎหมายเป็นองค์การระหว่างประเทศแบบ NGOs ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1952
[2] อย่างไรก็ดี อาจมีการแต่งตั้งเป็นองค์คณะพิเศษ (Chamber) จำนวนน้อยกว่า 15 คนได้
[3] โปรดดู ธรรมนูญก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ CHAPTER II - COMPETENCE OF THE COURT
Article 34
1. Only states may be parties in cases before the Court.
[4] โปรดดูรายละเอียดใน Rosenne Shabtai, The World Court: What It is and How It Works, (The Netherland: AW.Sijthoff,1973) หน้า 66
[5] ในเรื่องของหน้าที่หรือภารกิจหลักที่สำคัญของศาลโลกในการระงับข้อพิพาท ระหว่างรัฐกับรัฐนั้น อดีตผู้พิพากษาศาลโลกอย่าง Shigeru Oda ก็ได้ย้ำในประเด็นนี้ในความเห็นคดี LaGrand เมื่อรัฐบาลเยอรมันได้ร้องขอให้ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (Interim protection) ให้สหรัฐอเมริกาชะลอการประหารชีวิตของนาย LaGrand ออกไปก่อน ซึ่งท่าน Oda ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า ศาลโลกไม่ควรเข้าไปแทรกแซงชะตากรรมของปัจเจกชนที่มิได้เกี่ยวข้องกับการ ละเมิดสิทธิของรัฐโดยตรง เนื่องจากภารกิจหลักสำคัญของศาลโลกคือการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศใน เรื่องของสิทธิและหน้าที่ของรัฐ โปรดดู ถ้อยแถลงของท่านในคำร้องขอของรัฐบาลเยอรมันต่อศาลโลกให้ออกคำสั่งคุ้มครอง ชั่วคราว ในคดี LAGRANDC ASE (GERMANY v. UNITED STATES OF AMERICA) REQUEST FOR THE INDICATION OF PROVISIONAL MEASURES เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1999 วรรค 6
[6] ประเทศไทยยังมิได้เป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ ศาลนี้มีเขตอำนาจเฉพาะอาชญากรรมระหว่างประเทศเท่านั้น เช่น การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การรุกราน และอาชญากรสงคราม
[7] ประเทศไทยยังมิได้เป็นภาคีศาลกฎหมายทะเล ศาลนี้มีเขตอำนาจเฉพาะข้อพิพาทที่เกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982
[8] ตั้งอยู่ที่เมือง Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส
[9] ประเทศที่เป็นสมาชิก Council of Europe มี 47 ประเทศ
ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2010/02/27841
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น